ตู้แร็ค (RACK Cabinet) หรือตู้เซิร์ฟเวอร์เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการจัดเก็บอุปกรณ์เกี่ยวกับงานระบบต่างๆ เพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ง่ายต่อการติดตั้งระบบและซ่อมบำรุง แต่ตู้แร็คก็มีตั้งหลายแบบ หลายขนาด เราควรเลือกซื้ออย่างไรดี
GLINK Thailand พาไปดูเช็กลิสต์สำหรับการเลือกซื้อตู้แร็ค ว่ามีข้อสังเกตและข้อควรระวังอะไรบ้าง เพื่อให้การซื้อตู้แร็คตอบโจทย์การใช้งาน และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
สรุปสั้น 10 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อตู้แร็ค
- สำรวจพื้นที่หน้างานที่ติดตั้งตู้แร็ค
- ต้องรู้ลักษณะงานหรือระบบทำการติดตั้ง
- เลือกประเภทของตู้แร็ค ติดผนัง/ตั้งพื้น , เปิด/ปิด
- ขนาดของตู้แร็ค ความสูง ความลึก
- น้ำหนักรวมของอุปกรณ์ในตู้แร็ค
- ช่องร้อยสายไฟและจำนวนปลั๊กที่จะใช้ในตู้
- ตู้แร็คต้องระบายความร้อนได้ดี
- การดูแลรักษาและติดตั้งระบบ
- กำหนดงบประมาณ จะช่วยให้ตัวเลือกชัดเจนขึ้น
- สีและวัสดุของตู้แร็ค
ทำไมต้องใช้ตู้แร็ค (RACK Cabinet)
ตู้แร็คนั้นสำคัญไฉน ทำไมต้องมีตู้แร็คด้วย นั่นก็เป็นเพราะในอาคารต่างๆ ทั้งบ้าน สำนักงาน ตลาด ร้านค้า ตึกแถว คลังสินค้า ห้างสรรพสินค้า หรือทุกๆอาคารที่มีการวางระบบ เช่น ระบบเน็ตเวิร์ก ระบบกล้องวงจรปิด ระบบโซลาร์เซลล์ ระบบรักษาความปลอดภัย ล้วนแต่จะต้องมีจุดที่ใช้เก็บสายไฟ สายสัญญาณ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบนั้นๆ
หน้าที่ที่สำคัญของตู้แร็คอยู่ในส่วนนี้นี่เอง มันใช้จัดการอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ง่ายต่อการติดตั้ง การจัดการและการดูแลรักษา ส่วนรูปแบบการใช้งานตู้แร็คก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานโดยตรงเลยว่าอยากออกแบบตู้แร็คในลักษณะไหน
ก่อนไปดูเรื่องการจัดการตู้แร็ค สิ่งแรกที่ควรพิจารณา คือ ควรซื้อตู้แร็คแบบไหนให้ตรงกับงานมากที่สุด คุ้มค่ามากที่สุด ง่ายต่อการดูแลรักษามากที่สุด
ขนาด U
ตู้แร็คขนาดมาตรฐานในบ้านเราคือ กว้าง 19 นิ้ว ตามมาตรฐาน EIA-310 และขนาดของตู้แร็คจะเรียกหน่วยเป็น U (ยู) ย่อมาจากคำว่า Unit Rack โดย 1U จะมีความสูงประมาณ 1.75 นิ้ว หรือ 4.45 เซนติเมตร
เวลาเลือกซื้อตู้แร็คตามร้านค้าต่างๆ ทางร้านก็จะถามว่าต้องการกี่ U ซึ่งก็หมายถึงความสูงของตู้แร็คนั่นเอง ส่วนด้านลึกจะสัมพันธ์กับ U ยิ่งตู้แร็คสูงก็จะยิ่งลึกไปด้วย เช่น ตู้แร็คแบบติดกำแพง 6U ความลึกก็จะอยู่ที่ประมาณ 40-50 ซม. หรือถ้าเป็นตู้ที่ขนาดใหญ่กว่านั้นและเป็นแบบตั้งพื้น ก็จะมีความลึกถึง 80 ซม.
หากใช้งานภายในบ้านหรือองค์กรขนาดเล็ก ตู้แร็คขนาด 6U – 12U ก็เพียงพอสำหรับการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ 1-2 เครื่อง และอุปกรณ์เน็ตเวิร์กอื่นๆ หรือเก็บอุปกรณ์สำหรับงานกล้องวงจรปิดได้ เช่น DVR NVR PoE Hubต่างๆ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นห้องคอนโทรล Data Center จะต้องตู้เแร็คที่มีขนาดใหญ่ เพื่อรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก น้ำหนักเยอะ และมีระบบการระบายความร้อนที่ดี สามารถติดตั้งพัดลมได้หลายตัว
10 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อตู้แร็ค
1. สำรวจพื้นที่หน้างาน
การเลือกซื้อตู้แร็คควรสำรวจพื้นที่หน้างานเป็นอันดับแรก ต้องรู้ว่าจะเอาตู้แร็คไปวางไว้ตรงไหน เช่น ห้องใต้บันได ห้องคอนโทรล ชั้นลอย เป็นต้น และอยู่ในอาคารหรือนอกอาคาร สภาพอากาศ ความชื้น มีแอร์หรือพัดลมที่หน้างานหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับประเภทของตู้แร็คและวิธีระบายความร้อน ถ้าพื้นที่น้อยก็เหมาะกับแบบติดผนัง หากมีพื้นที่มากก็สามารถใช้แบบตั้งพื้นได้
2. ลักษณะงานหรือระบบที่ติดตั้ง
โจทย์แรกที่คนซื้อตู้แร็คต้องรู้อยู่แล้ว คือ ระบบที่ต้องการติดตั้ง เช่น ระบบเน็ตเวิร์ก ระบบกล้องวงจรปิด ระบบโซลาร์เซลล์ ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น เมื่อตั้งโจทย์ได้แล้วก็สามารถประเมินได้ว่าจะใช้อุปกรณ์กี่อย่าง จำเป็นต้องใช้คีย์บอร์ดเมาส์ หรือถาดในการจัดการระบบด้วยหรือไม่ ซึ่งจะช่วยคัดและตัดตัวเลือกตู้แร็คได้
3. ประเภทของตู้แร็ค
เมื่อสำรวจหน้างานและรู้ว่าต้องใช้งานในระบบไหนแล้ว ก็สามารถเลือกตู้แร็คซึ่งแบ่งเป็นประเภทดังนี้
- แบ่งตามการติดตั้ง ได้แก่ 1.ตู้แร็คแบบติดผนัง 2.ตู้แร็คแบบตั้งพื้น
- แบ่งตามลักษณะของตู้ ได้แก่ 1.ตู้แร็คแบบปิด 2.ตู้แร็คแบบเปิด
4. ขนาดของตู้แร็ค
ตู้แร็คมีความกว้างมาตรฐาน 19 นิ้ว ต่างกันที่ความสูงหรือ U (ยู) มีตั้งแต่ขนาด 6U ไปจนถึง 42U และความลึก 40-110 ซม. ต้องเช็กก่อนว่าจะใส่อุปกรณ์อะไรเข้าไปในตู้แร็คบ้าง ควรวัดขนาดของอุปกรณ์ต่างๆ และเผื่อระยะภายในเพื่อระบายอากาศ รวมถึงการเดินและร้อยสายไฟ ยิ่งตู้แร็คมีขนาดใหญ่ยิ่งจัดระเบียบภายในตู้ง่าย แต่ก็จะกินพื้นที่หน้างานมาก
5. น้ำหนักของอุปกรณ์ในตู้แร็ค
ตู้แร็คแบบตั้งพื้นสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าตู้แร็คแบบติดผนัง นอกจากการคำนวณเรื่องอุปกรณ์ที่จะใส่เข้าไปในตู้แร็คแล้ว ควรประเมินน้ำหนักรวมของอุปกรณ์ด้วย ตู้แร็คแต่ละรุ่นจะมีลิมิตของน้ำหนักที่รับได้อยู่ หากเป็นการติดตั้งระบบขนาดใหญ่ ต้องใช้อุปกรณ์สำรองไฟ UPS หรือ Power Station ซึ่งมีน้ำหนักมาก ก็ควรเลือกใช้ตู้แร็คแบบตั้งพื้นจะเหมาะสมกว่า
6. การร้อยสายไฟและจำนวนปลั๊ก
การติดตั้งอุปกรณ์ในตู้แร็คต้องเผื่อระยะร้อยสายไฟด้วย โดยมากแล้วตู้แร็คจะมีรูสำหรับร้อยไฟเข้าออกได้ทุกทิศทาง เพื่อความยืดหยุ่นในการเดินสายและจัดระเบียบสาย ควรดูด้วยว่าต้องใช้รางปลั๊กไฟกี่รางถึงจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ได้เพียงพอ การเลือกตู้แร็คโดยไม่เผื่อระยะ จะทำให้ตู้แร็คแน่นเกินไป ส่งผลให้ระบายอากาศได้ไม่ดีและเกิดความร้อนสะสมได้
7. ตู้แร็คกับความร้อน
ความร้อนมาจาก 2 แหล่ง 1.ความร้อนในตู้แร็คจากอุปกรณ์ต่างๆ 2.ความร้อนนอกตู้แร็คจากพื้นที่หน้างาน ตู้แร็คติดผนังจะมีช่องติดพัดลมด้านบนตู้ และตู้แร็คแบบตั้งพื้นมักติดพัดลมแบบถาด 1U ไว้ที่ชั้นล่างของตู้เพื่อดึงอากาศด้านล่างเข้ามา ส่วนอุณหภูมิห้องสามารถติดพัดลมหรือแอร์เพื่อลดความร้อนได้ หรือหากอยู่ในห้องปิดก็อาจใช้ตู้แร็คแบบเปิดเพื่อระบายความร้อนได้เลย
8. การดูแลรักษาและติดตั้งระบบ
ตู้แร็คสามารถเปิดเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ เดินสายต่างๆ และซ่อมบำรุง ได้ที่ประตูหน้า ผนังด้านข้างและด้านหลัง โดยด้านในตู้จะมีเสาสำหรับติดตั้งถาดและปลั๊กไฟต่างๆ แนะนำให้ใช้ปลั๊กไฟแบบ PDU ที่มีกันกระชาก และหากระบบที่ติดตั้งจำเป็นต้องใช้เมาส์และคีย์บอร์ดควรติดตั้งถาดสไลด์เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน ข้อควรระวังเมื่อเปิดปิดตู้แร็คบ่อยๆ ก็มีความเสี่ยงที่ฝุ่นจะเข้าไปสะสมได้
9. งบประมาณ
การกำหนดงบประมาณในการซื้อตู้แร็คจะช่วยให้เห็นตัวเลือกได้ชัดเจน และสามารถเทียบเคียงคุณสมบัติได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการเลือกซื้อตู้แร็คจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง มีบริการหลังการขายที่ดี มีการรับประกันที่ยาวนาน จะช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าตู้แร็คที่ซื้อไปนั้นมีคุณภาพ ใช้งานได้อย่างสบายใจ
10. สีและวัสดุของตู้แร็ค
ตู้แร็คโดยทั่วไปไม่ค่อยมีสีให้เลือกมากนัก ที่เห็นกันบ่อยๆจะเป็นสีดำและสีขาว ส่วนวัสดุที่นำมาผลิตจะเป็นแผ่นเหล็กอิเล็กโทรกัลวาไนซ์ ทนทาน ไม่เกิดสนิม และอาจจะมีรุ่นที่เป็นอลูนิเนียมเป็นตัวเลือกด้วยเช่นกัน ในขณะที่กระจกด้านหน้าส่วนใหญ่จะเป็น Tempered Glass(กระจกนิรภัย) อะคริลิก หรือแผงตาข่ายสำหรับช่วยเพิ่มการระบายอากาศ