สว่านโรตารี (Rotary Hammer Drill) เป็นเครื่องมือช่างที่ช่างหลายคนรู้จักดี แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะเรียกมันว่าสว่านเจาะปูน แต่อันที่จริงแล้วสว่านเจาะปูนมีกี่แบบ และที่เรียกว่าสว่านโรตารีมันคืออะไรกันแน่
บทความนี้ GLINK Thailand จะพาไปรู้จักกับสว่านโรตารีให้ดียิ่งขึ้น สำหรับมือใหม่ที่อยากรู้เรื่องสว่านโรตารี อ่านบทความนี้แล้วคลายข้อสงสัยได้แน่นอน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
สรุปสั้น สว่านโรตารี สว่านเจาะปูน คืออะไร
- สว่านเจาะปูนมี 2 แบบ
- ได้แก่ สว่านกระแทกและสว่านโรตารี
- สว่านกระแทกเจาะปูนแข็งๆ แน่นๆ ไม่ไหว
- สว่านโรตารีเจาะได้ทุกปูน
- ทั้งอิฐก่อ ปูซีเมนต์ คอนกรีต พรีแคสต์
- โรตารี คือ ระบบที่ใช้ทุ่นในการกระแทก
- ใช้หัวจับดอกและดอกสว่านแบบ SDS-Plus
- แรงกระแทกมีหน่วยเรียกว่า จูล
ผนังปูนมีกี่แบบ
ก่อนไปเริ่มต้นกับสว่านโรตารีและสว่านเจาะปูน มาดูกันก่อนว่าผนังปูนที่จะทำการเจาะนั้นมีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร เชื่อว่าหลายคนพอเห็นผนังบ้านก็คิดว่าเป็นปูนเหมือนกันหมด ใช้สว่านเจาะปูนแบบไหนก็ได้ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงโจทย์ตรงงาน
1. อิฐก่อ อิฐมอญ อิฐบล็อก อิฐมวลเบา
อิฐก่อ หมายถึง อิฐที่เอามาเรียงต่อกันเป็นผนัง มีอยู่ 3 ประเภทที่ใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ อิฐมอญ (อิฐแดง) อิฐบล็อก อิฐมวลเบา เมื่อก่อเสร็จแล้วจะฉาบปูนเพื่อให้ผนังเรียบ สวยงาม ซึ่งอิฐก่อแต่ละแบบมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แต่ทุกแบบสามารถใช้สว่านเจาะเข้าได้ไม่ยาก
2. ปูนซีเมนต์
ปูนซีเมนต์ มีหลายเกรด หลายแรงอัด ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปใช้กับงานแบบไหน
- ปูนซีเมนต์แรงอัดต่ำเหมาะกับงานขนาดเล็ก เช่น งานฉาบผนัง งานก่อเคาท์เตอร์ เป็นต้น
- ปูนซีเมนต์แรงอัดสูงเหมาะกับงานโครงสร้าง เช่น พื้น เสา คาน เป็นต้น
หากต้องการเจาะต้องดูลักษณะของปูนด้วย งานก่อเจาะง่าย งานโครงสร้างเจาะยาก
3. คอนกรีต
คอนกรีต เป็นวัสดุผสม เกิดจาก ปูน น้ำ หิน(ทราย กรวด) มีแรงอัดสูง เหมาะสำหรับงานที่ต้องการรับน้ำหนักเยอะมากๆ บางครั้งอาจมีการเสริมเหล็กเข้าไป เพื่อช่วยให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น เมื่อมวลมันแน่นมากก็ทำให้เจาะยากขึ้นไปด้วย
4. พรีแคสต์
พรีแคสต์ เป็นคอนกรีตสำเร็จรูป ปัจจุบันนิยมนำมาสร้างบ้าน เพราะรับน้ำหนักได้ดี สังเกตได้ว่าบ้านที่ใช้ผนังแบบพรีแคสต์จะไม่มีเสากลางบ้าน น้ำหนักโครงสร้างจะไปลงกับเสาด้านข้างและผนังพรีแคสต์ นั่นทำให้ผนังต้องแข็งและมีมวลแน่นมากๆ และแน่นอนมันทำให้เจาะได้ยาก
สว่านเจาะปูน
สว่านเจาะปูนมีอยู่ 2 แบบ หากเลือกมาใช้งานสิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ ปูนที่ต้องการเจาะนั้นเป็นปูนแบบไหน เพราะสว่านบางอย่างก็ไม่สามารถเจาะปูนได้ทุกแบบ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับหน้างานดังนี้
- สว่านกระแทก (Hammer Drill / Percussion Drill) รูปร่างหน้าเป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป สังเกตง่ายๆจะมีรูปค้อนตรงโหมดการใช้งาน สามารถเจาะอิฐก่อ และปูนก่อ ได้เท่านั้น ไม่สามารถเจาะโครงสร้าง คอนกรีต หรือพรีแคสต์
- สว่านโรตารี (Rotary Hammer Drill) สามารถเจาะปูนได้ทุกแบบ และยังมีโหมดสกัดใช้สำหรับเจาะทำลายปูนเพื่อเคลียร์พื้นที่ด้วย
เมื่อรู้จักประเภทของปูนและความสามารถของสว่านแล้ว ก็จะสามารถเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม ว่าแต่ทำไมสว่านโรตารีถึงเจาะปูนได้ทุกแบบ มันมีฟังก์ชันหรือการออกแบบอย่างไร ช่างหลายคนถึงต้องมีติดกระเป๋าไว้
สว่านโรตารี (Rotary Hammer Drill)
1. ระบบโรตารี
สว่านโรตารีมีทิศทางการทำงานของดอกเจาะอยู่ 2 ทาง 1.การหมุนดอกเพื่อเจาะ 2.การตอกท้ายดอกเพื่อกระแทก ส่วนที่ 2 นี้เองที่เรียกว่า ระบบโรตารี
การทำงานของระบบโรตารี เริ่มต้นจากมอเตอร์ไปหมุนเฟืองขับ แล้วหมุนต่อไปยังลูกเบี้ยวที่ติดอยู่กับทุ่นให้เคลื่อนที่คล้ายกับการใช้ค้อนตอกตะปู โดยทุ่นนี้จะไปกระแทกที่ท้ายของดอกสว่าน เป็นการกระแทกที่มีพลังมากกว่าสว่านกระแทกปกติ แรงกระแทกของสว่านโรตารีจะใช้หน่วยเป็น “จูล”
2. หัวจับดอก SDS-Plus
สว่านโรตารีมีแรงกระแทกมากกว่าสว่านกระแทก ทำให้ต้องใช้ดอกสว่านและหัวจับดอกสว่านที่แข็งแรงมากกว่าเดิม ซึ่งเรียกดอกสว่านแบบนี้ว่า SDS-Plus
SDS-Plus เป็นดอกสว่านขนาดมาตรฐาน (Universal) ไม่ว่าจะเป็นสว่านโรตารีแบรนด์ไหนก็ใช้ระบบนี้เหมือนกันหมด ดอกสว่าน SDS-Plus มีขนาดใหญ่กว่าดอกสว่านท้ายกลมปกติ มีเขี้ยวล็อกเพื่อความแน่นหนาและทำให้สามารถถอดดอกได้ง่าย
3. กันสั่นและกันสะบัด
สว่านโรตารีจะมีแรงสั่นสะเทือนต่อผู้ใช้งานมากๆ จึงมักติดตั้งระบบกันสั่นเพื่อซับแรงกระแทกให้มาถึงมือผู้ใช้งานน้อยลง และยังมีระบบกันสะบัดกรณีที่ใช้งานอยู่แล้วดอกติด เครื่องจะตัดการทำงานเอง ลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
4. 3 โหมดการทำงาน
สว่านโรตารีส่วนใหญ่จะมี 3 โหมดการทำงาน คือ โหมดเจาะ, โหมดเจาะกระแทก และโหมดสกัด หรือเรียกว่าสว่านโรตารี 3 ระบบ เวลาเลือกใช้งานจะแบ่งขนาดตัวเครื่องเป็น กิโลกรัม สำหรับงานทั่วไปใช้ขนาด 2 กก.ก็เพียงพอ แต่หากใช้งานหนักอาจจะขยับรุ่น 3 หรือ 4 กก. ก็แล้วแต่ความหนักเบาของงานและงบประมาณที่วางไว้
สรุป
สว่านโรตารีสามารถเจาะปูนได้ทุกชนิด ด้วยระบบโรตารีที่ใช้ทุ่นในการกระแทกท้ายดอกสว่าน SDS-Plus ไม่เหมาะกับการนำไปเจาะไม้หรือเหล็ก เพราะรอบต่ำแต่แรงบิดสูงจะทำให้ชิ้นงานเสียหายได้
สว่านโรตารีเป็นเครื่องมือช่างที่ช่างหลายคนมีติดกระเป๋าไว้ สำหรับงานติดตั้งที่ต้องเจาะผนังฝังพุก เสา คาน พรีแคสต์ หรืองานวางระบบ