Smart City ไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลายเมืองในโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่การปรับปรุงเมืองให้กลายเป็น Smart City เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
GLINK Thailand จะพาไปรู้จักกับ Smart City ที่จะดีต่อช่างเทพหลายๆคน เพราะมันคือโอกาสอีกมหาศาลในงานวางระบบเมืองและคนให้เชื่อมต่อกัน รวมไปถึงงานซ่อมบำรุงระบบต่างๆด้วย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
สรุปสั้น 15 Smart City ดีต่อชีวิต
- Smart City คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการเมือง
- เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ซึ่งในตอนนี้มี Smart City ชั้นนำ 15 เมือง ได้แก่
- เมืองจากเอเชีย คือ สิงคโปร์, โตเกียว, โซล, ดูไบ, ซินเจียง
- เมืองจากยุโรป คือ อัมสเตอร์ดัม, เบอร์ลิน, ลอนดอน, ปารีส, บาร์เซโลนา, สตอกโฮล์ม, เวียนนา, โคเปนเฮเกน
- เมืองจากอเมริกา คือ ซีแอตเทิล, นิวยอร์ก
Smart City คืออะไร
Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ มุ่งเน้นผลลัพธ์ 2 เรื่องหลัก คือ
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง
- สร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (IoT/Internet of Things), ปัญญาประดิษฐ์ (AI/Artificial Intelligence) หรือการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เข้ามาพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น การคมนาคม การจัดการพลังงาน การบริการสาธารณะ การดูแลสุขภาพ การรักษาความปลอดภัย การจัดการขยะ เป็นต้น
ปัจจัยที่เปลี่ยนเมืองธรรมดา เป็น Smart City
การเปลี่ยนเมืองธรรมดาให้กลายเป็น Smart City ได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เห็นพ้องต้องกัน ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. เทคโนโลยีดิจิทัล
หัวใจสำคัญของ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
การติดตั้งเซนเซอร์แบบต่างๆ เช่น การวัดอุณหภูมิ เสียง ฝุ่น และอื่นๆ เพื่อเก็บสถิติไปยังฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data
การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั้งเมือง สำหรับใช้ประมวลผลและรับส่งข้อมูลได้แบบทันท่วงที (Real Time)
การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้คาดการณ์เหตุการณ์และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
การเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น ข้อมูลสถิติสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมคนในเมือง การจัดการทรัพยากร
2. โครงสร้างพื้นฐาน
Smart City เป็นแนวคิดที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้สิ่งต่างๆ Smart ขึ้น ช่วยให้ชีวิตของคนในเมืองง่ายขึ้น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย สามารถเช็กสถานะของรถได้หรือเช็กเส้นทางการเดินทางได้ ระบบไฟฟ้าที่สามารถควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับรูปแบบชีวิตได้ หรือระบบการจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยก การรีไซเคิล การนำขยะไปทำเป็นพลังงานทางเลือก เป็นต้น
3. การจัดการสิ่งแวดล้อม
ผลลัพธ์ที่สำคัญนอกเหนือไปจากคุณภาพชีวิตของคนในเมือง คือ ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้จะต้องคำนึงถึงการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซ การบริหารจัดการขยะ การดูแลรักษาน้ำตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เพราะเมืองที่ดีจะต้องมาพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ดีมีคุณภาพด้วยเช่นกัน
4. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data และการวิเคราะห์โดยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของคนในเมือง และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน การใช้แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้การผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้นได้
5. การสร้างความร่วมมือจากรัฐ เอกชน และประชาชน
หากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แต่ขาดการสนับสนุนจากรัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนก็ไม่ใส่ใจ ความสำเร็จในการเปลี่ยนเมืองธรรมดาให้กลายเป็น Smart City ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ความร่วมมือของทุกคนในเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยผลักดัน Smart City ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเริ่มจาก
- นโยบายของรัฐที่มีความตั้งใจอยากจะใช้เทคโนโลยีและสามารถลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้ พร้อมกับให้ภาคเอกชนและประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานเพื่อความโปร่งใส
- ภาคเอกชนต้องให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซ หรือการบำบัดของเสียต่างๆ ก่อนที่จะส่งไปกำจัด และมีการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจด้วย
- ประชาชนจะต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาคาร์บอน มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ อีกทั้งยังต้องเรียนรู้และปรับตัวไปกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น
15 Smart City ดีต่อชีวิต
1. สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นทั้งเมืองและประเทศขนาดเล็กที่เริ่มใช้แนวคิด Smart City มาตั้งแต่ปี 2014 ผ่านโครงการ Smart Nation มีการผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชน เน้นพิเศษกับเรื่องระบบขนส่งและสาธารณสุข เตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ และมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ การใช้เทคโนโลยี Telehealth ตรวจสุขภาพระยะทางไกล โดยใช้เครื่องมือแพทย์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (IoT) แล้ววิดิโอคอล ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยคนไข้ได้
2. โตเกียว (ญี่ปุ่น)
โตเกียวเป็นเมืองผู้นำด้าน Smart City อันดับต้นๆ ในเอเชีย มีการประกาศมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วว่าจะดำเนินนโยบาย Society 5.0 เพื่อรองรับกับสังคมสูงอายุที่จะต้องเจอแน่ๆ ซึ่ง Society 5.0 ก็คือแนวคิด Smart City นั่นเอง โตเกียวมีความพยายามจะย้ายขนส่งมวลชนลงใต้ดินให้มากที่สุด เพื่อจะได้จัดการกับมลภาวะทางอากาศได้สะดวกมากขึ้น มีการเร่งมให้ภาคเอกชนหันมาใช้พลังงานจากธรรมชาติ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ Smart Device ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดี และการออกแบบ Smart Home ที่เต็มไปด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะ ช่วยคำนวณและวางแผนการใช้ชีวิตได้ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ให้กลายเป็นโตเกียวเมืองสีเขียว ใช้แผงโซลาร์เซลล์เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
3. โซล (เกาหลีใต้)
โซล ประเทศเกาหลีใต้มีนโยบายเรื่อง Smart Technology มาตั้งแต่ปี 2014 โดยมุ่งเน้นการเก็บข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีการติดตั้งเซนเซอร์ต่างๆ และกล้องวงจรปิดไว้ทั่วเมือง เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆแบบ Real Time เช่น อุณหภูมิ การจราจร คุณภาพอากาศ ปริมาณน้ำในแม่น้ำ เป็นต้น และยังมีการนำเทคโนโลยีไปใช้กับผู้สูงอายุ มีระบบตรวจจับความผิดปกติ หากไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ระบบจะส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาดูแลอย่างรวดเร็ว ด้านอาชญากรรมมีการนำระบบ AI มาใช้ตรวจหารูปแบบของอาชญากรรม และโซลก็ถือเป็นเมืองที่คนใช้เทคโลโนยี 5G ได้อย่างแพร่หลายมากที่สุดด้วย
4. ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
ดูไบสร้างเมืองมาพร้อมแนวคิด Smart City ตั้งแต่ปี 2017 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ระบบอินเทอร์เน็ต (IoT), บล็อกเชน (Blockchain), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยี 5G รวมถึงการวางระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ทุกอย่างเชื่อมต่อกันด้วยฐานข้อมูลเดียว สิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดัน Smart City คือ นโยบายที่มุ่งมั่นของรัฐ มีการแสดงในงานเอ็กโปรต่างๆ ถึงศักยภาพของดูไบที่จะเกิดขึ้นหากเป็น Smart City เต็มตัว และการลดภาษีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ช่วยดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐลดการใช้กระดาษ ใช้ AI ช่วยทำงานด้านทรัพยากรบุคคลมากขึ้น
5. ซินเจียง (จีน)
ซินเจียงเป็นเมืองผลิตน้ำมันในพื้นที่ห่างไกลของจีน ทำให้มีการผลักดันการเป็น Smart City เพื่อให้คนในเมืองมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต สิ่งที่โดดเด่นมากที่สุด คือ ระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทั้งระบบ ทำให้สามารถเช็กสถานะของรถประจำทาง สภาพการจราจร หรือป้ายรถประจำทาง แบบ Real Time ได้ ในด้านระบบรักษาความปลอดภัยมีการติดตั้งปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่เชื่อมต่อกับหน่วยกู้ภัยและโรงพยาบาล และยังมีระบบการจัดการคนว่างงานแบบ Real Time ทำให้รัฐรู้จำนวนคนว่างงาน สามารถจัดการแก้ปัญหาได้ทันที
6. อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์)
อัมสเตอร์ดัมเป็น Smart City มาหลายปี ตั้งแต่ปี 2009 มุ่งเน้นกับการเป็นเมืองสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินโครงการกว่า 170 โครงการ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ป้ายต่างๆ หรือการสร้างหมู่บ้านลอยน้ำรับมือกับปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอ มีระบบ Car-sharing ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน และมีรถบัสขับเคลื่อนอัตโนมัติรับส่งระหว่างสถานีรถไฟใต้ดินและที่จอดรถ จัดทำโครงการ City-zen เปลี่ยนให้อัมสเตอร์ดัมกลายเป็นเมืองที่ใช้พลังงานสะอาด และมีพลังงานที่เพียงพอสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน มีระบบการจัดการขยะที่ไม่สร้างมลพิษ และสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ในทุกๆ กิจกรรม เช่น การชาร์จรถไฟฟ้า การใช้ไฟส่องสว่างและป้ายไฟสาธารณะที่มีแหล่งมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
7. เบอร์ลิน (เยอรมัน)
เบอร์ลินเริ่มเมกะโปรเจ็กต์ที่ท้าทาย “Berlin TXL – The Urban Tech Republic” ประกอบด้วย อุทยานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แหล่งชอปปิง พื้นที่สาธารณะและเมืองอัจฉริยะ โดยทำให้พื้นที่เมืองดังกล่าวเป็นเขตที่อยู่อาศัยปลอดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเลนจักรยานครอบคลุมทั้งเมือง และสามารถรองรับผู้คนได้ถึง 10,000 คน ซึ่งพัฒนามาจากสนามบินเก่าที่ชื่อว่า สนามบินเบอร์ลินเทเกล (ที่เปิดทำการปี 1948 – 2020) การก่อสร้างในระยะแรกจะเสร็จในปี 2027 ซึ่งอาจจะกลายเป็นเมืองต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆทั่วโลก โดยเมกะโปรเจ็กต์นี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
8. ลอนดอน (อังกฤษ)
ลอนดอนเป็น Smart City ที่มีนวัตกรรมสีเขียวมากมาย มีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนน เพื่อลดการใช้รถยนต์ในเมือง และส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี มีโครงการ Civic Innovation Challenge สนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพให้คิดค้นนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของเมือง มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย หรือคนเก่งๆ เข้าร่วมงามกับภาครัฐ และมีโครงการ Connected London เชื่อมสัญญาณ 5G ทั่วทั้งเมือง ทุกคนสามารถใช้ Wi-Fi ในที่สาธารณะ และเสาไฟยังติดตั้งชุดเซ็นเซอร์และจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มีเครือข่ายระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของโลก ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมีสวนสาธารณะในเมืองมากกว่า 3 พันแห่งเลยทีเดียว
9. ปารีส (ฝรั่งเศส)
ปารีสเมืองแห่งแฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ มีโครงการสถาปัตยกรรม Paris Smart City 2050 ตั้งเป้าสร้างอาคารที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเซนเซอร์มาช่วยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นให้ประชาชนลดการผลิตของเสีย ช่วยให้ประหยัดการใช้พลังงานของเมืองได้อย่างมาก และยังนำเทคโนโลยีมาดูแลจัดการระบบน้ำเสีย พลังงาน การจัดการรถไฟใต้ดินและพื้นที่สาธารณะต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
10. บาร์เซโลนา (สเปน)
บาร์เซโลนาเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสเปน มีการออกแบบผังเมืองที่ดีมากๆ เป็นผังเมืองที่สวยอันดับต้นๆ ของโลก มีการนำแนวคิด Smart City มาใช้เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเชื่อมต่อประชาชนเมืองได้อย่างทั่วถึง และเป็นเมืองแรกของโลกที่ออกกฎหมายสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Thermal Ordinance มาเป็นเวลานับ 10 ปี มีระบบจัดการขยะและน้ำอัจฉริยะช่วยจำกัดของเสียและแปรรูปไปเป็นพลังงาน อีกทั้งยังมีจุดชาร์จพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วเมือง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง
11. สตอกโฮล์ม (สวีเดน)
สตอกโฮล์ม เคยได้รับการประกาศให้เป็น “Europe’s Green Capital of 2010” หรือเมืองหลวงทางด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป ในปี 2010 ชูนโยบายลดภาษีให้กับบริษัทต่างๆ ที่มีการประหยัดการใช้พลังงาน พร้อมเทคโนโลยีการรีไซเคิลที่ประชาชนยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก มีการรีไซเคิลขยะมากถึง 100 กก.ต่อคนต่อปี มีระบบโครงข่ายการคมนาคมอัจฉริยะ ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถคำนวณการเดินทางของรถสาธารณะได้ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองสีเขียวเต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายขนาด มีสวนสาธารณะมากถึง 1,000 แห่ง คิดเป็น 30% ของพื้นที่เมือง ชาวเมือง 90% อาศัยอยู่ห่างจากพื้นที่สีเขียว ในระยะ 300 เมตร
12. เวียนนา (ออสเตรีย)
เวียนนานับว่าเป็น Smart City ที่ดีที่สุดในโลก มีการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยประชากรมากกว่า 1.7 ล้านคน ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก อุดมไปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้กรอบกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ 1. เพิ่มพื้นที่สีเขียว 2. วางแผนการขนส่งมวลชน 3. การมีส่วนร่วมของประชาชน 4. การวางแผนการใช้พลังงาน ที่ช่วยให้กลายเป็นเมืองสีเขียวและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมืองที่ดีสำหรับเด็กจะดีสำหรับทุกคน เวียนนาสามารถใช้พลังงานทดแทนถึง 14% และมีโรงงานผลิตพลังงานชีวภาพใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซล ให้ได้เกิน 300,000 ตารางเมตร และวางแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นไปอีก
13. โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก)
โคเปนเฮเกนเป็นเมืองจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชาชนส่วนใหญ่ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะหลัก มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนจักรยาน จนเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศทั่วโลก มีการนำแนวคิด Smart City มาเพื่อจัดการกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน และมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ทั้งยังเป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้นวัตกรรมสีเขียว มีการใช้ระบบอัจฉริยะในการควบคุมไฟบนท้องถนน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในที่สาธารณะ ระบบขนส่งที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และยังมีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเพื่อให้เอกชนมาร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ในการจัดการเมือง
14. ซีแอตเทิล (สหรัฐอเมริกา)
ซีแอตเทิลถูกจัดเป็น Smart City อันดับต้นๆของโลก เป็นเมืองชายทะเลที่มีสำนักงานใหญ่ของแบรนด์ระดับโลกตั้งอยู่ เช่น โบอิง ไมโครซอฟต์ สตาร์บัค เป็นต้น มีการนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้กับอาคารต่างๆ และจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และที่เป็นไฮไลท์เลยก็คือ การบริหารเมืองที่มีการจัดสรรสิทธิทางภาษีให้กับภาคเอกชนและประชาชนที่จ่ายภาษี ได้รับสินค้า Green Technology ไปติดตั้ง เช่น ฉนวนกันความร้อนและความเย็น ทั้งฝ้าเพดาน ผนัง หน้าต่าง และส่วนอื่นๆ ของอาคาร เพื่อลดการสูญเสียพลังงานอย่างไม่จำเป็น
15. นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)
นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีความพยายามผลักดันตัวเองไปสู่การเป็น Smart City อย่างมาก โดยการปูพื้นฐานโครงสร้างอินเทอร์เน็ตด้วยการเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะเก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาติดตั้งจออัจฉริยะทั่วทั้งเมือง เพื่อรายงานข่าวสาร เหตุการณ์ และคูปองต่างๆ ทำให้คนในเมืองสามารถเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด เป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีด้วย นิวยอร์กยังเป็นเมืองที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก มีเงินลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ในแต่ละปี จึงมีนโยบายที่ให้ความสำคัญการความยั่งยืน เช่น การออกกฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษในอาคาร และมีการกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมเสมอ ภายในเมืองมีการติดตั้งเซนเซอร์จำนวนมาก เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆไปใช้ในระบบจัดการขยะ สร้างจุดกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต การสร้างแบบจำลองสถานการณ์เพื่อคาดการณ์คดีอาชญากรรมต่างๆ
ข้อดี-ข้อเสียของ Smart City
- คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น – มีบริการสาธารณะที่สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ
- การเชื่อมต่อและการเข้าถึงข้อมูล – ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ได้ง่าย
- ความปลอดภัย – มีการวางระบบกล้องวงจรปิดตรวจจับเหตุการณ์และช่วยลดอาชญากรรม
- การสร้างงาน – สร้างโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานใหม่ๆ
- การดึงดูดนักลงทุน – ทำให้เมืองมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุน
- การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ – ลดการสิ้นเปลืองพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- เศรษฐกิจที่ยั่งยืน – สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เจริญเติบโต
ข้อเสียของ Smart City
- ต้นทุนสูง – การติดตั้งและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานมีค่าใช้จ่ายสูง
- ความเป็นส่วนตัว – คนในเมืองจะเสียความเป็นส่วนตัวไปบ้าง เพราะต้องมีการเก็บข้อมูลในหลายๆด้าน
- ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย – อาจเกิดปัญหาจากการโจมตีทางไซเบอร์
- การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล – การเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากอาจนำไปสู่การละเมิดความเป็นส่วนตัว
- ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล – อาจเกิดความไม่เท่าเทียมกันในด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการ
- ปัญหาการปรับตัวของบุคลากร – บางกลุ่มอาจไม่พร้อมสำหรับการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่
- สังคมผู้สูงอายุ – การมีบริการทางสุขภาพที่ดีทำให้คนมีอายุยืนมากขึ้น ปริมาณสังคมผู้สูงอายุจะขยายใหญ่ขึ้น
อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ Smart City
อดีต
แนวคิด Smart City เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการเมือง การวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการแก้ปัญหาเฉพาะด้าน มีการใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้างมากขึ้นและมีความพยายามในการจัดการพลังงาน
ปัจจุบัน
แนวคิด Smart City ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก หลายเมือง หลายประเทศมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนเมืองธรรมดาสู่การเป็น Smart City และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้มากขึ้น เช่น สินค้าหลายอย่างสามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เพื่อสั่งการผ่านอินเทอร์เน็ต หรือระบบการจัดการเมืองแบบอัตโนมัติโดยผ่านเซนเซอร์ต่างๆ
อนาคต
แนวคิด Smart City จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร และการเติบโตของประชากร เน้นการใช้พลังงานสะอาดและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
คาดการณ์ว่า AI, Blockchain, และการประมวลผลควอนตัมจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เมืองสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ทันที
สรุป
Smart City คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมือง และการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แนวคิด Smart City จะใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนในอนาคตหลายๆ สิ่งจะกลายเป็นเรื่องปกติ
ปัจจัยที่ทำให้เมืองธรรมดากลายเป็น Smart City ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล, โครงสร้างพื้นฐาน, การจัดการสิ่งแวดล้อม, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างความร่วมมือจากรัฐ เอกชน และประชาชน ดังตัวอย่างที่เห็นไปทั้งสิ้น 15 เมือง ดังนี้ สิงคโปร์, โตเกียว, โซล, ดูไบ, ซินเจียง, อัมสเตอร์ดัม, เบอร์ลิน, ลอนดอน, ปารีส, บาร์เซโลนา, สตอกโฮล์ม, เวียนนา, โคเปนเฮเกน, ซีแอตเทิล และนิวยอร์ก