Skip to main content
search
GLINK TECHNICIANบทความทั้งหมด

10 เครื่องมือช่าง ที่ช่างติดตั้งต้องมี

By 28/04/2025No Comments1 min read
เครื่องมือช่าง ช่างติดตั้ง ต้องมี

เครื่องมือช่างถือเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับงานซ่อม งานสร้าง งานบ้าน งาน DIY หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือทำมาหากินของบรรดาช่างทั้งหลายเลยก็ว่าได้ บทความนี้ GLINK Thailand จะพาไปรู้จักกับ “ช่างติดตั้ง” และเครื่องมือช่างที่ช่างติดตั้งต้องมี

สรุปสั้น 10 เครื่องมือช่าง ที่ช่างติดตั้งต้องมี

  • ไขควงไฟฟ้า (Screwdriver)
  • สว่านไร้สาย (Cordless Drill)
  • สว่านโรตารี (Rotary Hammer Drill)
  • เครื่องเจียร (Angle Grinder)
  • ตลับเมตร (Tape Measure)
  • ระดับน้ำ (Water Level)
  • คีม (Pliers)
  • ประแจ (Wrench)
  • ปากกาวัดไฟ (Voltage Detector)
  • กล่องเครื่องมือ (Tool Box)
10 เครื่องมือช่าง ที่ช่างติดตั้งต้องมี

ช่างติดตั้ง คืออะไร

ช่างที่ทำหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับโครงสร้างหรือระบบที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น

  • งานวางระบบเน็ตเวิร์ก
  • งานประปา
  • งานติดตั้งประตูหน้าต่างอลูมิเนียม
  • งานเดินระบบไฟฟ้า
  • งานเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน
  • งานติดตั้งโซลาร์เซลล์

ช่างติดตั้งจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในผลิตภัณฑ์ที่จะทำการติดตั้ง และมีทักษะด้านการใช้เครื่องมือช่าง รวมไปถึงวิธีการติดตั้งที่ถูกต้อง ปลอดภัย อยู่ในงบประมาณที่ลูกค้ากำหนด

หน้าที่ของช่างติดตั้ง

  1. ตรวจสอบและเตรียมพื้นที่หน้างาน
    ก่อนเข้าติดตั้ง ช่างติดตั้งต้องตรวจสอบพื้นที่หน้างาน เช่น วัดขนาดพื้นที่ ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง เตรียมวัสดุที่ต้องใช้งาน วางแผนการทำงานและเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม เป็นต้น
  2. การใช้งานเครื่องมือช่าง
    ช่างติดตั้งจะต้องใช้เครื่องมือช่างให้ถูกวิธี และเหมาะสมกับหน้างาน โดยต้องคำนึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะการประยุกต์เครื่องมือช่างไปใช้งานผิดประเภท อาจก่อให้เกิดอันตราย และความเสียหายต่อเครื่องมือช่างด้วย
  3. ติดตั้งอุปกรณ์และโครงสร้าง
    เมื่อเตรียมเครื่องมือและพื้นที่หน้างานแล้ว ช่างติดตั้งก็จะนำผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสั่งเข้าไปติดตั้งจริง ให้เข้ากับโครงสร้างที่มีอยู่ เช่น การติดตั้งระบบเน็ตเวิร์ก การติดตั้งโซลาร์เซลล์ การเดินท่อประปา การเดินสายไฟฟ้า เป็นต้น
  4. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
    การวางแผนแล้วไม่มีอะไรผิดไปจากแผน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่บางครั้งหน้างานจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น ช่างติดตั้งต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ไม่ว่าปัญหานั้นจะมาจากผลิตภัณฑ์, เครื่องมือช่าง, สภาพแวดล้อม แม้แต่ลูกค้าเอง
  5. ตรวจสอบหลังการติดตั้ง
    กระบวนการสุดท้ายก่อนปิดจ๊อบส่งงานลูกค้า คือ การตรวจสอบการติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชันการใช้งาน ความสะอาด ความเรียบร้อยในส่วนต่างๆ และความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

10 เครื่องมือช่าง ที่ช่างติดตั้งต้องมี

เครื่องมือช่าง คือ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการทำงานซ่อม งานสร้าง งานบ้าน งาน DIY เครื่องมือช่างมีหลายประเภทตามลักษณะงาน ในบทความนี้ GLINK Thailand จะพาไปแนะนำเครื่องมือช่าง 10 แบบที่ช่างติดตั้งต้องมี ดังนี้
1. ไขควงไฟฟ้า (Screwdriver)
ไขควงไฟฟ้าเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับงานไขขัน ใช้งานดีกว่าไขควงธรรมดา เพราะสามารถไขขันชิ้นงานได้ง่ายขึ้น จบงานไวขึ้น เหนื่อยน้อยลง ใช้ดอกไขควงก้านหกเหลี่ยม โดยไขควงไฟฟ้าสามารถนำไปขันสกรูกับชิ้นงานได้หลายแบบ เช่น แผงวงจร เหล็ก อลูมิเนียม ไม้ พลาสติก เป็นต้น ไขควงไฟฟ้ามี 3 แบบที่นิยมดังนี้

  • ไขควงไจโร (Gyroscopic Screwdriver) คือ ไขควงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เหมาะกับชิ้นงานที่บอบบางมากๆ เช่น งานประกอบพลาสติก หรือแผงวงจรคอมพิวเตอร์ มีระบบไจโรสโคปิคที่จับทิศทางการหมุนของมือได้ สามารถทำงานโดยการกดไปที่ท้ายของไขควงหรือออกแรงหมุนซ้ายขวา
  • ไขควงคลัตช์ (Clutch Screwdriver) คือ ไขควงไฟฟ้าที่มีคลัตช์ในการควบคุมแรงบิด สามารถเลือกแรงบิดให้เหมาะสมกับชิ้นงานได้ เหมาะกับงานที่เน้นความละเอียด ไม่เน้นเร็ว เช่น งานถอดประกอบชุดสี หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • ไขควงกระแทก (Impact Driver) คือ ไขควงไฟฟ้าที่มีระบบกระแทก โดยเป็นการกระแทกในทิศทางเดียวกับการหมุน ช่วยให้ขันน็อตและสกรูได้รวดเร็ว ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มช่าง เหมาะกับงานที่ต้องการความแรงและรวดเร็ว เช่น งานยิงหลังคาเมทัลชีท หรืองานประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้

2. สว่านไร้สาย (Cordless Drill)
สว่านไร้สายเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับงานเจาะ สามารถนำไปใช้ไขขันสกรูได้แต่จะไม่รวดเร็วและละเอียดเหมือนกับไขควงไฟฟ้า ใช้ดอกสว่านก้านกลม สว่านไร้สายมีด้วยกัน 2 แบบ คือ มีระบบกระแทกและไม่มีระบบกระแทก โดยระบบกระแทกที่เพิ่มเข้ามานี้ใช้สำหรับการเจาะปูน รวมไปถึงการเจาะวัสดุเนื้อแข็ง

  • สว่านไร้สาย 2 ระบบ (Drill) คือ สว่านไร้สายที่มีโหมดการทำงานเจาะและไขขัน ไม่มีระบบกระแทกมาให้ ข้อดีคือช่วงบอดี้สั้นและไม่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายของระบบกระแทก ใช้กับงานเจาะไม้ เจาะเหล็กเป็นหลัก
  • สว่านไร้สาย 3 ระบบ (Hammer Drill) คือ สว่านไร้สายที่มีโหมดการทำงานเจาะ ไขขัน และกระแทก โหมดกระแทกใช้สำหรับเจาะปูน เช่น อิฐก่อ อิฐแดง อิฐมวลเบา เป็นต้น ถ้าเป็นพรีแคสหรือคอนกรีตจะเจาะไม่เข้า

3. สว่านโรตารี (Rotary Drill)
สว่านโรตารีเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับงานเจาะปูนโดยเฉพาะ โรตารีเป็นระบบกระแทกแบบใช้ทุ่นมาตอกท้ายดอกสว่าน ทำให้เจาะของแข็งได้ดีมาก สามารถเจาะปูนได้ง่ายดาย รวมไปถึงเจาะพรีแคส(คอนกรีตสำเร็จรูป) คอนกรีต คาน พื้นปูน ใช้ดอกสว่าน SDS-plus สว่านโรตารีจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ มีโหมดสกัดกับไม่มีโหมดสกัด

  • สว่านโรตารี 2 ระบบ (Rotary Drill) คือ สว่านโรตารีที่มีโหมดเจาะและเจาะกระแทก ไม่มีระบบสกัดมาให้ เหมาะสำหรับงานเจาะปูนเป็นหลัก เจาะผนังฝังพุก ปั่นโฮลซอว์
  • สว่านโรตารี 3 ระบบ (Rotary Hammer Drill) คือ สว่านโรตารีที่มีโหมด เจาะ เจาะกระแทก และระบบสกัด (Jackhammer) บางคนเรียกว่า แย็ก สามารถใช้สกัดปูนออกเพื่อปรับหรือเคลียร์หน้างานได้

4. เครื่องเจียร (Angle Grinder)
เครื่องเจียรเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับงานตัด ขัด เจียร เหล็ก อลูมิเนียม สแตนเลส และโลหะอื่นๆ เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับช่างติดตั้ง โดยเฉพาะงานที่จะต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของอาคาร ช่วยตัดแต่งผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับโครงสร้างได้

ช่างหลายคนมักเรียกติดปากว่า หินเจียร หรือ ลูกหมู ขนาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ 4 นิ้ว หรือ เครื่องเจียร 4 นิ้ว ซึ่งเรียกตามขนาดของใบเจียร สามารถใช้ตัด ขัด เจียร โดยเปลี่ยนฟังก์ชันตามใบที่ใส่ ยังมีขนาด 3 นิ้วสำหรับชิ้นงานขนาดเล็ก และขนาด 5 นิ้วสำหรับชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ แต่ใบเจียรขนาด 3 นิ้ว และ 5 นิ้ว จะหายากกว่าขนาด 4 นิ้ว

5. ตลับเมตร (Tape Measure)
ตลับเมตรเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับการวัดขนาดต่างๆ มีหน่วยวัดแบบเมตริกและอเมริกัน ขนาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ตลับเมตร 5 เมตร เพราะมีระยะการวัดที่ครอบคลุมงานติดตั้งหลายอย่าง และขนาดของตัวตลับเมตรก็จับถือได้พอดีมือ นอกเหนือไปจากนี้ก็จะมีตลับเมตร 2 เมตร และตลับเมตร 8 เมตร เป็นตัวเลือกสำหรับคนที่ใช้งานสเกลเล็กหรือใหญ่ขึ้น

ฟังก์ชันหลักของตลับเมตร คือ การวัด ส่วนราคาที่ต่างกันในแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น คือ

  • คุณภาพวัสดุที่ใช้ผลิต
  • คุณภาพการพิมพ์ตัวเลขบนสายวัด
  • ความแข็งแรงของสายวัด
  • ฟังก์ชันเสริมอื่นๆ เช่น แถบแม่เหล็ก ไฟ LED เป็นต้น

6. ไม้วัดระดับน้ำ (Box Beam Level)
ไม้วัดระดับน้ำเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับการวัดความลาดเอียง นับว่าเครื่องมือที่จำเป็นอย่างมากสำหรับช่างติดตั้ง เพราะมันช่วยหาแนวระดับให้กับการติดตั้งผลิตภัณฑ์เข้ากับโครงสร้าง ทำให้ติดตั้งได้ตรง เป็นระเบียบ และดูเป็นมืออาชีพ โดยทั่วไปจะมีอยู่หลายขนาดให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์และหน้างานที่จะทำการติดตั้ง มีแกนวัดอยู่ 2 แบบ คือ 2 แกน และ 3 แกน

ไม้วัดระดับน้ำขนาด 4 นิ้ว เหมาะสำหรับการติดตั้งผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก เช่น กล่องสวิตช์ เต้าปลั๊ก เป็นต้น หรือไม้วัดระดับขนาด 24 นิ้ว เหมาะกับงานติดตั้งผ้าผ่าน วงกบหน้าต่างและประตู นอกจากนี้การเลือกขนาดของไม้วัดระดับน้ำ ต้องคำนึงถึงการขนย้ายด้วย เพราะหน้างานบางที่พื้นที่จำกัด อาจใช้ไม้วัดระดับน้ำขนาดใหญ่มากไม่ได้

7. คีม (Pliers)
คีมเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับสารพัดงานไม่ว่าจะเป็นคีบ จับ ตัด ปอก ย้ำ ขึ้นอยู่กับประเภทหรือลักษณะปากของคีมนั้นๆ โดยคีมจะมีหลายแบบดังนี้

  • คีมปากแหลม – ปลายปากมีขนาดเล็ก เรียว ยาว เหมาะกับชิ้นงานที่มีขนาดเล็ก หรือใช้คีบในพื้นที่แคบ
  • คีมปากจิ้งจก – ปากจับมีลักษณะกว้าง ใช้จับหรือบีบชิ้นงาน มีส่วนที่ใช้ตัดสายไฟอยู่ด้วย
  • คีมปอกสายไฟ – บริเวณปากจะมีร่องสำหรับปอกสายไฟขนาดต่างๆ ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่ใช้เป็นประจำ
  • คีมล็อค – ปากจับหลายแบบ แต่ลักษณะพิเศษ คือ สามารถจับล็อคได้ ใช้กับงานที่ต้องการความมั่นคง แข็งแรง
  • คีมย้ำสายแลน – ฟังก์ชันครบสำหรับการตัด ต่อสายแลน สามารถถอดหรือใส่หัวแลน รวมไปถึงย้ำสายแลนได้
  • คีมย้ำไฮดรอลิค – ใช้สำหรับย้ำสายไฟขนาดใหญ่ด้วยระบบไฮดรอลิค

8. ประแจ (Wrench)
ประแจเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับงานไขขันน็อตหกเหลี่ยม นัต(Nut) และ โบลต์ (Bolt) มีหลายขนาด ส่วนใหญ่นิยมซื้อเป็นชุด เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย ลักษณะของประแจก็มีหลายแบบ เช่น ปากตาย แหวน ฟรี หรือประแจอเนกประสงค์ที่ใช้กับงานอ่างล้างหน้า เรียกว่า ประแจขันก๊อกใต้อ่าง

ชุดประแจที่ได้รับความนิยมในหมู่ช่างติดตั้ง คือ ชุดประแจแหวนข้างปากตาย ซึ่งใช้ในงานติดตั้งได้ครอบคลุม ช่างติดตั้งบางคนอาจเพิ่มความสะดวกในการทำงานด้วยการเพิ่มประแจด้ามฟรีหรือก๊อกแก๊ก ช่วยให้งานขันน็อตตัวยาวหรือขันในพื้นที่จำกัดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

9. ปากกาวัดไฟ (Voltage Detector)
ปากกาวัดไฟเป็นเครื่องมือช่าง สำหรับงานเดินระบบไฟฟ้า ใช้เช็กปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีไฟเข้าหรือไม่ หรือใช้เช็กจุดที่มีไฟฟ้ารั่วได้ ปากกาวัดไฟบางรุ่นสามารถวัดปริมาณกระแสไฟได้ด้วย ใช้งานง่ายเพียงแค่จิ้มปากกาไปยังจุดที่ต้องการเช็กกระแสไฟ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ช่างติดตั้งทุกคนต้องมีติดกระเป๋าไว้อย่างแน่นอน ปากกาวัดไฟอาจมาในรูปแบบของไขควงวัดไฟก็ได้ ซึ่งการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าต้องการใช้งานในลักษณะไหน

10. กล่องเครื่องมือช่าง (Tool Box)
กล่องเครื่องมือช่างเป็นอุปกรณ์จัดเก็บเครื่องมือให้มีระเบียบ สะดวกต่อการหยิบใช้งาน ช่างติดตั้งหลายคนเก็บอุปกรณ์แยกตามประเภท เวลาต้องออกไปหน้างานจริงก็สามารถเลือกหยิบเฉพาะกล่องเครื่องมือที่ต้องใช้ในงานนั้นๆ หากแยกประเภทของกล่องเครื่องมือตามวัสดุที่ใช้ผลิต สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ กล่องโลหะ และกล่องพลาสติก

  • กล่องเครื่องมือช่างแบบโลหะ เป็นกล่องเครื่องมือช่างที่มีความแข็งแรงสูง สามารถจัดเก็บอุปกรณ์ได้เยอะ แต่ก็ต้องแลกมากับน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก และหากเป็นกล่องเหล็กก็มีโอกาสเกิดสนิมขึ้นได้ ต้องหมั่นฉีดสเปรย์หล่อลื่นบริเวณบานพับ และเก็บในห้องที่มีความชื้นต่ำ
  • กล่องเครื่องมือช่างแบบพลาสติก เป็นกล่องเครื่องมือช่างที่ได้รับความนิยมสูงมาก เพราะแข็งแรงและน้ำหนักเบา เวลาตกหรือกระแทกสามารถให้ตัวได้ ช่วยลดแรงกระแทกได้เล็กน้อย หลายรุ่นสามารถกันน้ำได้ แบรนด์เครื่องมือช่างชั้นนำหลายแบรนด์ก็มีระบบกล่องเครื่องมือช่างเป็นของตัวเอง คุณสมบัติหลักๆคือ กล่องแต่ละใบสามารถเชื่อมต่อกันได้ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและขนย้าย

สรุป

ช่างติดตั้งมีหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับโครงสร้างหรือระบบที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่างที่เหมาะสมกับหน้างาน และต่อไปนี้คือ 10 เครื่องมือช่างที่ช่างติดตั้งต้องมี

  1. ไขควงไฟฟ้า (Screwdriver) สำหรับไขขันน็อตสกรู
  2. สว่านไร้สาย (Cordless Drill) สำหรับเจาะไม้ เหล็ก ปูน
  3. สว่านโรตารี (Rotary Hammer Drill) สำหรับเจาะปูน พื้น พรีแคส คอนกรีต
  4. เครื่องเจียร (Angle Grinder) สำหรับตัด ขัด เจียร โลหะ
  5. ตลับเมตร (Tape Measure) สำหรับวัดระยะ
  6. ระดับน้ำ (Box Beam Level) สำหรับวัดความลาดเอียงและระนาบ
  7. คีม (Pliers) สำหรับคีบ จับ ตัด ปอก ย้ำ ชิ้นงาน
  8. ประแจ (Wrench) สำหรับไขขันน็อตหกเหลี่ยม นัตและโบลต์
  9. ปากกาวัดไฟ (Voltage Detector) สำหรับเช็กกระแสไฟ
  10. กล่องเครื่องมือ (Tool Box) สำหรับจัดเก็บเครื่องมือช่าง
Close Menu