Skip to main content
search
GLINK TECHNICIANบทความทั้งหมด

ไขควงไฟฟ้า 3 แบบ น่าใช้งาน

By 28/04/2025No Comments1 min read
ไขควงไฟฟ้า ไขควงกระแทก คืออะไร

ไขควงหรือซากุไร เป็นเครื่องมือช่างที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยที่สุด เพราะใช้สำหรับไขขันนอตและสกรู ด้วยหลักการง่ายๆ เพียงแค่หมุนมือบิดเพื่อไขขันนอตและสกรูเข้าหรือออก แต่นอกจากไขควงมือธรรมดาแล้ว ยังมีไขควงแบบไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในการขับมอเตอร์ ไม่ต้องออกแรงเอง แถมยังช่วยให้จบงานได้ไว ขันได้แม่นยำ ซึ่งมีไขควงไฟฟ้า 3 แบบที่นิยมมาก

บทความนี้ GLINK Thailand จะพาไปรู้จักกับไขควงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น สำหรับมือใหม่ที่อยากรู้เรื่องไขควงไฟฟ้า อ่านบทความนี้แล้วคลายข้อสงสัยได้แน่นอน

สรุปสั้น

  1. ไขควงหรือซากุไร (เพี้ยนจากสกรูไดเวอร์)
  2. เป็นเครื่องมือสำหรับไขขันนอตและสกรู
  3. มีแบบหัวแฉกและหัวแบนที่ใช้งานทั่วไป
  4. ไขควงไฟฟ้า ใช้แบตเตอรี่และมอเตอร์ทุ่นแรง
  5. มี 3 แบบที่นิยมกันมากๆ ในกลุ่มช่าง
  6. ไขควงกระแทก เร็ว แรง ดุดัน
  7. ไขควงคลัตช์ นุ่มนวล ปรับแรงบิดได้
  8. ไขควงไจโร งานบอบบาง ชิ้นเล็ก เข้าที่แคบได้ดี
ไขควงกระแทก ไขควงไฟฟ้า

ไขควง หรือ ซากุไร (Screwdriver) คืออะไร

ไขควง (Screwdriver) เป็นเครื่องมือช่างแบบ Hand Tool ที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุด เพราะมันเป็นอุปกรณ์สำหรับไขขันนอตและสกรูต่างๆ ใช้ในงานถอดประกอบเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น และอื่นๆอีกสารพัด ช่างรุ่นเก๋าอาจจะเรียกมันว่า “ซากุไร” ซึ่งเรียกเพี้ยนมาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ สกรูไดเวอร์ (Screwdriver)

หลักการทำงานของมันก็ง่ายมาก แค่เสียบไขควงเข้ากับร่องนอตหรือสกรู จากนั้นบิดไขควงตามเข็มนาฬิกาเพื่อไขเข้า และบิดทวนเข็มนาฬิการเพื่อไขออก โดยอาศัยแรงบิดของผู้ใช้งานนั่นเอง ส่วนหัวของไขควงก็จะมีที่นิยมอยู่ 2 แบบ คือ หัวแฉก (PH) และ หัวแบน (Slotted)

ไขควงไฟฟ้า (Electric Screwdriver) คืออะไร

ไขควงไฟฟ้า (Electric Screwdriver) เป็นเครื่องมือช่างแบบ Power Tool ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความรวดเร็วในการไขขันนอตและสกรู ทำให้ไม่ต้องออกแรงเอง และยังสามารถขันได้ละเอียดและแน่นได้มากกว่าใช้มือบิด ข้อสังเกตว่าเครื่องมือใดเป็นไขควงไฟฟ้าหรือสว่าน ให้ดูจากปากจับดอก (mount) ไขควงไฟฟ้าจะเป็นปากจับรููปหกเหลี่ยม (HEX/เฮ็ก) ขนาด ¼” ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของดอกไขควงก้านเฮ็ก แต่หากเป็นสว่านจะเป็นปากจับแบบ 3 จีบ

ไขควงไฟฟ้ามีแหล่งพลังงานหลักจะมาจากแบตเตอรี่ และได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มช่างแอร์ ช่างโซลาร์เซลล์ ช่างติดตั้ง ช่างวางระบบ หรือแม้แต่พ่อบ้านแม่บ้านที่ทำงาน DIY โดยไขควงไฟฟ้าจะมีอยู่ 3 แบบที่นิยมกันมากๆ คือ ไขควงกระแทก (Impact Screwdriver) ไขควงคลัตช์ (Clutch Screwdriver) และไขควงไจโร (Gyroscopic Screwdriver)

ไขควงกระแทก (Impact Screwdriver)

ไขควงกระแทกเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะรอบจัด(RPM / Revolution per Minute) ความถี่ในการกระแทกสูง(IPM / Impact per Minute) แรงบิดมาก(Torque) สามารถใช้งานได้หลากหลาย ความแรงสามารถเจาะไม้ เจาะเหล็ก หรือเจาะปูนได้เลย (แต่ไม่แนะนำให้เจาะปูน เพราะระบบกระแทกจะเสื่อมไว) โดยมากจะใช้กับงานที่ต้องการไขขันนอตและสกรูแบบรวดเร็วทันใจ ยิงพรืดเดียวจบ เช่น งานยิงหลังคาเมทัลชีท งานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ งานติดตั้งเฟอร์นิเจอบิวต์อิน งานถอดประกอบเหล็กหรือไม้

ระบบกระแทก (Impact) จะมีทิศทางการกระแทกแนวเดียวกับการหมุน ทำให้เวลาไขขันนอตและสกรู สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและแน่นหนา

ไขควงคลัตช์ (Clutch Screwdriver)

ไขควงคลัตช์เป็นไขควงไฟฟ้าที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ความเร็วรอบ อัตราการกระแทก และแรงบิด จะน้อยกว่าไขควงกระแทกมาก เช่น ไขควงกระแทกมีแรงบิดได้มากถึง 200 Nm แต่ไขควงคลัตช์อาจมีแรงบิดเพียง 30 Nm เท่านั้น มันเหมาะกับงานที่ต้องการความนิ่มนวลในการไขขันสกรู เพื่อไม่ให้ชิ้นงานได้รับความเสียหาย เช่น งานถอดประกอบชุดสีของรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ งานเดินสายไฟ งานถอดประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า งานไขขันสกรูกับชิ้นงานที่เป็นพลาสติก

ระบบคลัตช์ (Clutch) ทำให้ไขควงปรับแรงบิดได้ จึงสามารถเลือกใช้แรงบิดให้เหมาะสมกับชิ้นงาน ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ คือ คลัตช์ทำให้ปรับระดับการจมของสกรูได้ เมื่อปรับแรงบิดไว้ที่ระดับ 1 จะขันสกรูได้ลึกน้อยกว่าปรับแรงบิดไว้ที่ ระดับ 10

ไขควงไจโร (Gyroscopic Screwdriver)

ไขควงไจโรเป็นไขควงไฟฟ้าขนาดเล็กและแรงบิดน้อยที่สุด แต่ใช่ว่ามันจะด้อยกว่าไขควงกระแทกหรือไขควงคลัตช์ เพราะด้วยความที่มันมีขนาดเล็กทำให้สามารถทำงานในที่แคบหรือมุมอับได้ดี และแรงบิดที่น้อยของมันเหมาะอย่างยิ่งกับชิ้นงานที่บอบบาง หรือต้องการความละเอียดในการไขขัน เช่น งานถอดประกอบแผงวงจร งานถอดประกอบคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก งานติดตั้งและทำความสะอาดแอร์ งานถอดประกอบของเล่นหรือรถทามิย่า

ระบบไจโรสโคปิค (Gyroscopic) ออกแบบมาให้ไขควงสามารถทำงานได้ในเวลาที่หมุนไขควงไปยังทิศทางต่างๆ เช่น หมุนไขควงไปทางขวา ไขควงก็จะหมุนเข้าทันที ไม่ต้องกดสวิตช์ค้าง หรือเพียงแค่กดด้านท้ายไขควง ก็สามารถทำงานได้แล้ว

สรุป

ไขควงไฟฟ้าเริ่มพัฒนามาจากไขควงธรรมดาที่เป็นแบบ Hand Tool แล้วนำมาใส่มอเตอร์และแบตเตอรี่จนกลายเป็น Power Tool ช่วยให้ไขขันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่เปลืองแรง ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 แบบที่นิยมใช้กันมากๆ ในกลุ่มช่างหรือพ่อบ้านแม่บ้าน DIY

  • ไขควงกระแทก เหมาะกับงานไขขันที่เน้นความเร็ว แน่น เป็นไขควงไฟฟ้าที่นิยมมากที่สุด
  • ไขควงคลัตช์ เหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียด และถนอมชิ้นงาน ปรับระดับแรงบิดได้
  • ไขควงไจโร เหมาะกับงานที่บอบบาง งานชิ้นเล็ก หรือพื้นที่ทำงานจำกัด หมุนตามมือได้
Close Menu